yes 250

เมื่อฉันตัดสินใจเพิ่มช่องว่างให้กับลูกวัย 9 ขวบ

0 Comments 375

เนื่องจากอาชีพของฉันทำให้มีความรู้เกี่ยวกับจิตวิทยาและพัฒนาการเด็กอยู่ไม่ใช่น้อย…ฉันรู้ดีว่าการมี“ช่องว่าง”ให้เด็กเป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็นมาก โดยเฉพาะเด็กเล็กๆ

ต้นไม้ ต้องการพื้นที่ว่างที่เหมาะสมเพื่อจะเติบโตแตกรากใบ ขยายกิ่งก้านสาขาฉันใด สมองของเด็กทีืยังพัฒนาไม่เสร็จดี ก็ต้องการ “free play” เวลาว่างทีืจะเล่นอิสระเพื่อขยายและเชื่อมโยงเส้นใยประสาท พัฒนาสิ่งที่สำคัญที่สุดไปตามพัฒนาการของแต่ละช่วงวัย และยังได้ค้นพบความสนใจและpassionใหม่ๆ ของตัวเองด้วย

แต่ในทางปฏิบัติจริง ฉันค่อยๆลืมเลือนสิ่งสำคัญนี้ไป ตอนลูกยังเป็นเด็กเล็กมันก็ง่ายที่จะปล่อยลูกเล่นเป็นอิสระ แต่เมื่อลูกค่อยๆโตขึ้นๆ กิจกรรมที่มีขั้นตอนชัดเจน (structured activities) ก็เริ่มมีบทบาทสำคัญมากขึินทุกที

สำหรับฉันการดูสื่อโซเชียลมากๆก็มีอิทธิพล การที่เห็นเพจกิจกรรม คอร์สเรียนเสริมการเรียนรู้ต่างๆ หรือการทำกิจกรรมประกวดแข่งขันต่างๆสำหรับเด็กที่ผุดโฆษณากันมาไม่เว้นวัน มันกระตุ้นต่อม “กลัวลูกจะพลาดอะไรดีๆไป” “เป็นสิ่งที่น่าสนใจนะ น่าเก็บทำพอร์ตฟอลิโอไว้เผื่ออนาคต” แล้วสมัยนี้เวลาจะตกลงใจซื้อสินค้าอะไรมันก็ง่ายไปหมด มือไว โอนเร็ว ในที่สุดก็คือการลงเอยด้วยฉันลงสมัครคอร์สเรียนทั้งวิชาการและเรียนเสริมกิจกรรม รวมถึงสมัครสอบ สมัครแข่งขันอะไรให้ลูกเต็มแน่นเอี๊ยดไปหมด

แต่ตอนนี้กลับรู้สึกเหนื่อยล้ากันไปหมดทั้งแม่ทั้งลูก ตอนสมัครมันก็ไม่ทันคิดอะไรมาก แต่พอถึงเวลาที่ต้องเรียนและไปแข่งหลายๆอย่างในช่วงเวลาติดๆกัน แค่การเดินทางก็รถติดมากๆ เสียเวลาและพลังงานไปหลายอยู่ บรรยากาศในบ้านก็ดูเปลี่ยนไป มันดูรีบเร่งไปหมด มีงานต่างๆเข้ามารัดตัว ว่าวันนี้ต้องทำอะไรบ้าง 1-2-3 ทำอันนี้เสร็จก็ต้องรีบร้อนไปทำอันนั้นต่อ จากเดิมที่กลับมาจากโรงเรียนแล้วลูกมีเวลาเหลือเฟือที่จะพักผ่อนและเล่นสบายๆ ก็ดูเหมือนมีไฟลนก้น ฉันเองต้องคอยกำกับตลอดว่าให้รีบๆมาทำนู่นนี่นั่นได้แล้ว…

จนในที่สุดวันหนึ่งฉันก็สงสัยว่านี่เรากำลังทำอะไรอยู่เนี่ย ทำหลายอย่างแต่ไม่โฟกัส จนไม่ได้ดีจริงๆซักอย่าง หรือเสียเวลาที่จะอยู่เฉยๆโดยไม่ต้องทำอะไรไป ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีคุณค่ามาก เพราะการที่อยู่เฉยๆโดยไม่มีอะไรให้ทำมันทำให้เราหวนกลับมาตระหนักรู้ถึงกายและใจของตนเองมีสติระลึกถึงและทำความเข้าใจตนเองอย่างลึกซึ้งความสงบนี้จะทำให้เกิด self actualization เป็นช่วงเวลาที่ได้เกิดปัญญาเข้าใจอะไรหลายๆอย่างรวมถึงได้ฟื้นฟูเยียวยาจิตใจด้วย

ส่วนลูกการที่เขาไม่มีเวลาว่างนานๆฉันก็น่าจะรู้อยู่แล้วว่ามันทำให้ขาดโอกาสในการค้นพบตัวเองว่าจริงๆแล้วเขาสนใจหรือมีพาสชั่นด้านไหนกันแน่และขาดโอกาสที่จะได้ทำอะไรอย่างสร้างสรรค์เพราะความว่างและไม่มีอะไรทำของเด็กมันจะนำไปสู่การสรรหาอะไรที่แปลกใหม่มาเล่นมาทำสมองส่วนการคิดค้นสร้างนวัตกรรมใหม่ๆก็จะพัฒนามาตั้งแต่วัยเด็กแบบนี้แหละ!!!

ถ้าฉันอยากให้ลูกฝึกฝนเป็นผู้นำให้ชีวิตตนเอง รู้จักตัวเองดีพอ รู้ว่าตัวเองชอบอะไร มีเป้าหมายอะไรในชีวิตที่มาจากความปราถนาของตนเองอย่างแท้จริง แทนที่จะถมเวลาที่มีของลูกให้เต็มแน่นเอี๊ยดด้วยการเรียนเสริมและกิจกรรมต่างๆ ฉันก็ควรอย่าลืมความสำคัญของ “ความว่าง” และจัดสรรช่องว่างให้ลูกอย่างเพียงพอ เพราะมันคือความจำเป็นของชีวิตที่มีคุณภาพ

การที่เด็กถูกยัดจนตารางเวลาเต็มแน่นเอี๊ยด ดูยุ่งตลอดเวลา มันกลับเป็นการฝึกให้ลูกเป็นโรบอทที่มีประสิทธิภาพ ทำงานตามโปรแกรมอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยจนกว่าเครื่องจะพัง มากกว่าโตเป็นมนุษย์ที่มีปัญญาและความคิดสร้างสรรค์ รวมถึงมี self awareness

เมื่อตกผลึกได้ ฉันจึงตั้งใจ ว่าต่อไปนี้จะลดกิจกรรมต่างๆที่ลูกไม่ได้เป็นคนเลือก และไม่ได้สำคัญอะไรหนักหนาลง

แต่ตั้งใจว่าจะใส่ “ช่วงว่าง” ลงไปในโปรแกรมตารางเวลาของลูก โดยให้ความสำคัญมาเป็นอันดับแรก…สำคัญกว่าการเรียนเลข สำคัญกว่าการแข่งเปียโน

เดี๋ยวถ้าทำได้แล้ว ผลเป็นอย่างไรบ้าง ฉันจะมาเขียนบล็อกอัพเดทให้อ่านกันต่อไป…

Categories: