yes 250

เมื่อฉันพบการบริหารเวลาด้วยการเพิ่มช่องว่าง(1) 

0 Comments 362

บทเกริ่นนำ…

ตั้งแต่เด็กมา ฉันถูกปลูกฝังว่าเวลาเป็นของมีค่า…

มีคำผู้ใหญ่สอนและคำกล่าวที่ถูกพบเจอซ้ำๆมาหลายต่อหลายครั้ง ไม่ว่าจะจากทางบ้าน ทางโรงเรียน อ่านเจอ ฟังจากวิทยุหรือโทรทัศน์ ว่า “เวลาของเรามี 24 ชั่วโมงเท่าๆกัน แต่เราแต่ละคนใช้เวลาให้มีประสิทธิภาพได้แตกต่างกัน”

ทำให้ฉันฝังใจว่า ห้ามปล่อยเวลาให้ผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์เด็ดขาด ควรจะหาทางทำอะไรให้เป็นชิ้นเป็นอันให้เกิดผลขึ้นมาให้เห็นกับตาให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ คนที่มีเวลาว่างอยู่แต่ไม่ได้ใช้ทำอะไรคือคนที่เกียจคร้านและไม่เห็นคุณค่าของเวลา “การที่ทำกิจกรรมได้มากที่สุดในเวลาจำกัดเท่าที่มีคือคนที่รู้จักใช้เวลาอย่างฉลาดและเป็นคนที่มีประสิทธิภาพ ไม่ใช่คนไม่ได้เรื่อง”

ด้วยเหตุนี้ทำให้ฉันในช่วงวัยรุ่นเลยพยายามตะบี้ตะบันยัดเยียดกิจกรรมลงไปให้มากที่สุดในเวลาเท่าที่มีอยู่ พอจบวันถ้าทำอะไรไปได้หลายอย่างก็รู้สึกปลื้มว่าวันนี้ช่างมีคุณค่า เราทำอะไรไปได้ตั้งเยอะ แหมเรานี่เก่งจัง ไม่ใช่พวกไร้สาระนะ…

หลังจากนั้นฉันก็ต้องเผชิญกับภาวะทำตามแผนการไม่สำเร็จ ชอบวางแผนเขียนใส่สมุดแพลนเนอร์เสียดิบดี มีชั่วโมงว่างตรงไหนต้องหาอะไรมาทำแล้ววางแผนเขียนลงไป แต่พอถึงเวลานั้นจริงๆกลับปฏิบัติตามไม่ได้ ไม่ว่าจะเกิดเหตุสุดวิสัยทำให้รวนไปหมด หรือเกิดเหนื่อย ขี้เกียจ ไม่ได้ดูแพลนเนอร์เลยเอาไปไว้ตรงไหนก็ไม่รู้ สรุปวันนี้ว่าจะทำสิบอย่าง พอจบวันสำเร็จแค่อย่างเดียวหรือบางทีก็ไม่ได้ทำเลยซักอย่าง!

สิ่งที่ตามมาคือความรู้สึกผิด รู้สึกล้มเหลว ไปจนถึงความรู้สึกไร้ค่า ทำไมเราเป็นคนที่ไม่มีประสิทธิภาพแบบนี้ล่ะ ที่แท้เราเป็นคนไม่มีระเบียบสินะ ไม่ใช่คนเก่งๆเนี้ยบๆที่เป๊ะไปหมดแบบหลายๆคน สักวันหนึ่งชั้นต้องทำให้ได้ พรุ่งนี้ค่อยสตาร์ทชีวิตใหม่!

แล้วชีวิตก็วนลูปเดิมๆ วิ่งไล่ตามอุดมคติที่ไม่เคยเกิดขึ้นจริงไปเรื่อยๆ แถมช่วงที่ยังเด็กกว่านี้มากๆฉันดันมีลักษณะสุดโต่งด้วย เช่นถ้าวันนี้ทำตามแผนการไม่สำเร็จไปซักหนึ่งหรือสองอย่างจะถือว่าวันนี้คือเฟลแล้ว วันนี้ด่างพร้อยไปแล้ว จะต้องเริ่มต้นกระบวนการใหม่หมดในวันพรุ่งนี้ แล้ววันที่สมบูรณ์แบบก็ไม่เคยมาถึง…

พอเริ่มเป็นผู้ใหญ่ หลังจากได้อ่านค้นคว้าข้อมูล ฉันก็ได้พบว่าสิ่งที่ตัวเองเป็นน่ะมันเข้าข่าย perfectionism หรือพวกบูชาความสมบูรณ์แบบ คนที่เป็นperfectionist ไม่ได้แปลว่าเป็นคนที่ดูเพอร์เฟค ตรงกันข้าม แปลว่าเป็นพวกที่จะทำอะไรที่แค่พอประมาณหรือเดินทางสายกลางไม่เป็น จะต้องมีความสุดโต่งบางอย่างเข้ามาเอี่ยวเสมอ เช่นถ้าทำไม่ได้เต็มร้อย ก็จะปรับตกให้ตัวเองเป็นศูนย์ไปเลย ยิ่งทำให้ชีวิตเยินมากขึ้นๆ ไปในทางตรงกันข้ามกับความเพอร์เฟคที่เฝ้าใฝ่ฝันถึง…โชคดีได้มาเรียนต่อสาขาที่ได้แอบรักษาอาการทางจิตของตนเองไปด้วยในตัว ฉันก็เลยเริ่มดีขึ้นมาก ถึงแม้ว่ายังมีอาการบางอย่างหลงเหลืออยู่แต่ก็คิดว่าคงอยู่ในระดับ healthy อ่ะนะ…

จนฉันได้มาพบหลักการของลัทธิเซนที่ทำให้ฉุกใจคิดและได้มองในมุมใหม่ที่ไม่เคยเห็นมาก่อน(ภาษาทางจิตวิทยาเรียกว่า Reframing หรือมองโลกและการใช้ชีวิตด้วยกรอบแนวคิด ตรรกะใหม่ไปเลย)

Categories: